

.
สาระเกี่ยวกับกาแฟ
กาแฟ เป็นเครื่องดื่มที่ทำจากเมล็ดกาแฟคั่วซึ่งได้จากต้นกาแฟ นิยมดื่มเป็นเครื่องดื่มทั้งแบบร้อน ๆ และแบบเย็นๆ บางครั้งนิยมใส่นมหรือครีมลงในกาแฟด้วย ในกาแฟหนึ่งถ้วยมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 80 -140 มิลลิกรัม กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับชาและน้ำ นอกจากนี้ เมล็ดกาแฟยังเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีการผลิตและส่งออกมากเป็นอันดับที่หกของโลก สำหรับประเทศไทยนั้นถือว่ากาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่ง ที่ปลูกมากในพื้นที่สูงภาคเหนือ และพื้นที่ภาคใต้ ของประเทศ
.
เชื่อกันว่ามนุษย์เราน่าจะรู้จักต้นกาแฟมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 โน่นแล้ว แต่เพิ่งมาทราบสรรพคุณของมันอย่างบังเอิญในราวต้นศตวรรษที่ 10 นี่เองโดยสรรพคุณของกาแฟถูกค้นพบครั้งแรกโดยคนเลี้ยงแพะชาวอาบิสซีเนีย ชื่อคาลได (kaldi) (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเอธิโอเปีย ทวีปอัฟริกา) นายคาลได สังเกตเห็นแพะที่ตนเองเลี้ยงเกิดอาการคึกคะนองกระโดดโลดเต้นอย่าง สนุกสนาน ไม่ยอมหลับนอน หลังจากไปกินใบ และผลสีแดง ๆ ของ ของต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งก็คือต้นกาแฟนั่นเอง เมื่อ นายคาลไดลองกินดูบ้างก็รู้สึกสดชื่น ต่อมาภรรยาของเขาจึงได้นำเรื่องนี้ไปเล่าให้ ฮะยี โอเมอร์ (Hadji Omer) พระมุสลิมรูปหนึ่งฟัง ท่านจึงลองนำผลกาแฟไปเผาไฟเพื่อหวังลดอำนาจของผลไม้นี้ลง แต่กลับมีกลิ่นหอมน่าพิสมัย จึงนำมาทุบและใส่ผสมลงในน้ำเพื่อใช้เทดับไฟ และเมื่อท่านลองดื่มน้ำนั้นดู ก็รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ภายหลังจึงได้นำมาคั่ว แล้วต้มดื่ม เป็นเครื่องดื่มประจำ ต่อมาพวกพ่อค้าทราบเรื่องนี้เข้าจึงนำออกไปเผยแพร่ นับแต่บัดนั้น โลกก็รู้จักลิ้มรสของกาแฟในฐานะเครื่องดื่มที่สร้างความกระปรี้กระเปร่าให้กับร่างกาย โดยในระยะศตวรรษที่ 15 นั้น กาแฟก็กลายเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันแพร่หลายมากทั่วไปในแถบประเทศอาหรับ
.
ในช่วงศตวรรษที่ 16 การนิยมดื่มกาแฟ ได้ขยายอาณาเขตไปถึงยุโรป โดยขยายไปยังนครเวนิส เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และกะจายตัวอย่างต่อเนื่องจนครอบคลุมไปทั่วโลกในที่สุด กล่าวกันว่าในระยะแรกๆชาวอาหรับหวงแหนพันธุ์กาแฟมาก จึงส่งออกเฉพาะเมล็ดกาแฟที่คั่วสุกแล้วเท่านั้น แต่ในที่สุดเมล็ดกาแฟก็ออกมาสู่โลกกว้าง โดยการลักลอบนำออกมาโดยชาวอินเดียที่ไปแสวงบุญที่เมกกะ และก็ได้แพร่ขยายไปยังชวา เนเธอร์แลนด์ และทั่วยุโรปในที่สุด สำหรับทวีปอเมริกานั้น ต้นกาแฟถูกนำไปอย่างยากลำบาก โดยทหารเรือฝรั่งเศสในต้นศตวรรษที่ 18 ในครั้งแรกนั้น มีต้นกาแฟที่เหลือรอดชีวิตบนเรือมาขึ้นฝั่งอเมริกาได้เพียง 1 ต้น และก็ได้แพร่ขยายเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันดินแดนแห่งนี้ ได้กลายเป็นดินแดนที่ปลูกกาแฟมากที่สุดในโลก
.
คนไทยกับกาแฟ
คนไทยเรานั้นน่าจะเริ่มรู้จักกาแฟกันมาตั้งแต่ยุคสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมารู้จักกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แต่เอาเข้ามาในรัชกาลไหนยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะคนไทยเราเห็นจะไม่ค่อยชอบดื่มกัน จึงไม่ได้บันทึกไว้ในพงศาวดาร องไทยเราเอง แต่มีปรากฏในจดหมายเหตุของฝรั่งที่เข้ามาในแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวว่าพวกแขกมัวร์ชอบดื่มกาแฟมาก แต่สำหรับคนไทยในยุคนั้นการดื่มกาแฟนั้นเห็นจะไม่ค่อยนิยมเพราะรสติดจะขม อาจจะคิดว่าเป็นยาไปเสียด้วยซ้ำคนไทยจึงไม่ค่อยคุ้นกับกาแฟเพราะเหตุนี้ เข้าใจว่าคนไทยจะมารู้จักกันดีชนิดมีการนิยมปลูกกันมากขึ้น ก็ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชประสงค์ทำสวนกาแฟอยู่พักหนึ่ง สวนกาแฟที่ว่านี้คือบริเวณวัดราชประดิษฐ์ การทำสวนกาแฟในสมัยนั้น น่าจะเป็นเครื่องวัดได้อย่างหนึ่งว่า ในสมัยของ รัชกาลที่ 3 เป็นสมัยที่กาแฟแพร่หลายมากที่สุด จนถึงมีพระราชดำริทำสวนกาแฟขึ้น ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ก็ยังปรากฏว่าสวนกาแฟของไทยก็ยังทำกันอยู่ แต่ที่มีชื่อกล่าวถึง ในจดหมายเหตุของฝรั่งที่เข้ามาในสมัยนั้นก็คือ สวนกาแฟของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์โดยเซอร์ยอห์น บาวริง ราชทูตอังกฤษซึ่งเข้ามาทำสัญญากับประเทศสยามเมื่อ พ.ศ.2398 ในรัชกาลที่ 4 ได้เคยเขียนเล่าไว้ว่า ได้เคยไปเที่ยวสวนกาแฟของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ซึ่งปรากฏมีต้นกาแฟมากมาย และ ยังได้ให้ท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯยังได้ให้เซอร์ยอห์น บาวริง ลองเก็บไปกินเป็นตัวอย่าง 3 กระสอบ จากหลักฐานเหล่านี้ก็แสดงว่า การปลูกกาแฟของไทย เคยพยายามทำให้เป็นล่ำเป็นสันกันมาแล้ว แต่จะเป็นด้วยคนไทยในสมัยนั้นไม่นิยมดื่มกาแฟ หรือจะเป็นด้วยกาแฟพันธุ์ไม่ดี หรือสาเหตุอื่นๆคนไทยจึงไม่ได้นิยมดื่มกาแฟกันอย่างแพร่หลายมากนัก
.
เรื่องการทำสวนกาแฟเห็นจะหยุดชะงักมานาน จนกระทั่งเลิกกิจการไป ไม่มีใครคิดจะปลูกเป็นล่ำเป็นสันต่อมาอีก แต่การดื่มกาแฟเห็นจะมีแพร่หลายมากขึ้น ร้านกาแฟในกรุงเทพฯ จะเริ่มมีมากขึ้นในสมัยไหนก็ไม่พบหลักฐาน แต่ปรากฏว่าใน พ.ศ.2460 ซึ่งอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งแรก มิสโคล์ ชาวอเมริกัน ได้ตั้งร้านขายกาแฟอยู่แถวสี่กั๊กพระยาศรี โดยเปิดขายทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 15.00 น – 18.00 น.โดยให้ชื่อว่าร้าน “Red Cross Tea Room” หน้าร้านปักธงกาชาด ปรากฏว่ามีเจ้านาย และข้าราชการ ตลอดจนชาวต่างประเทศ พากันมาอุดหนุนกันมาก ผลกำไรที่ได้จากการขายกาแฟร้านนี้ มิสโคล์ ได้ส่งไปบำรุงกาชาดของ สัมพันธมิตร และเข้าใจว่าร้านกาแฟคงจะเริ่มมีมากขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 6 และที่ 7 นี้เอง
.
.
ส่วนการปลูกกาแฟนั้นเริ่มกลับเข้ามาในมีบทบาทในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งพระยาสารศาสตร์พลขันธ์ หรือ นายเจรินี ซึ่งเป็นชาวอิตาลี ได้บันทึกไว้ว่า กาแฟได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งประมาณปี พ.ศ.2447 โดยชาวมุสลิมชื่อนายดีหมุน ได้เมล็ดกาแฟจากการแสวงบุญที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย นำมาปลูกในบ้านของตนเองที่ ต. บ้านโตนด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา จากนั้นก็มีการปลูกเผยแพร่ กว้างขวางออกไป ซึ่งกาแฟชนิดนั้นเป็นกาแฟโรบัสต้า การนำกาแฟที่นายดีหมุนนำกลับเข้ามาทดลองปลูกในครั้งนี้ ค่อนข้างประสบผลสำเร็จด้วยดี กล่าวกันว่าเป็นกาแฟรสดีพอใช้ทำให้มีผู้อื่นเจริญรอยตามการปลูกกาแฟในครั้งนั้นเริ่มปลูกกันมากทีเดียวแถวจังหวัดสงขลา และได้ขยายตัวไปยังจังหวัดอื่นๆทั่วพื้นที่ภาคใต้ในที่สุด
.
.
ส่วนกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ที่นิยมดื่มกันทั่วโลกนั้น ได้มีนำเข้ามาปลูกครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2516 โดยนำมาปลูกทดลองที่บ้านมูเซอห้วยตาด อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นการนำเข้ามาของหน่วยงานราชการซึ่งได้นำพันธุ์กาแฟพันธ์ต่างๆ เข้ามาจากต่างประเทศ เพี่อให้ชาวเขาปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น จนกระทั่งกาแฟกลายเป็น พืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่ง บนพื้นที่สูงในภาคเหนือของประเทศไทย
.
.
คำว่ากาแฟนั้น เป็นคำที่มาจากคำว่า "เกาะหฺวะหฺ" (kahwah) ในภาษาอาหรับซึ่งแต่เดิม หมายถึงเหล้าองุ่นแล้วเพี้ยนเป็น กาห์เวห์ ในภาษาตุรกี ก่อนที่จะกลายเป็น คอฟฟี (Coffee) ในภาษาอังกฤษ และกาแฟ ในภาษาไทย คำว่ากาแฟเป็นภาษาสมัยใหม่ แรกเริ่มเดิมทีคนไทยเราเรียกกันว่า “ข้าวแฝ่” ทั้งนี้เพราะการออกเสียงภาษาฝรั่งยังไม่ถนัดปาก และมีเสียงใกล้ข้าวเข้าไป เราก็โมเมว่าเป็นข้าวเสียเลย คนโบราณชอบลากเอาคำฝรั่งมาเป็นคำไทยได้เก่งนัก คือจะได้ฟังกันสนิทหู อย่างชื่อ มิสเตอร์จอห์น ครอเฟิต ทูตอังกฤษที่เข้ามาเมืองไทย เมื่อสมัยรัชกาลที่ 2 นั้นคนไทยเราเรียกเสียใหม่ว่า “นาย จอน กาลาฟัด” ซึ่งเป็นคำที่สนิทหู สนิทปาก คนไทยมากกว่าคำว่า จอห์น ครอเฟิต ซึ่งออกเสียงก็ยาก ฟังก็ไม่คุ้นชิน คำว่ากาแฟนี้ เมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ยังเห็นจะเรียกกันว่า “ข้าวแฟ” เหมือนกันทั้งนี้เพราะเป็นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ สัพพะวัจนะภาษาไทยของปาเลอกัวฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2397 คือเมื่อ (149 ปี) ล่วงมาแล้วแสดงว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ยังคงเรียกกาแฟว่า “ข้าวแฟ” อยู่ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นกาแฟ เหมือนอย่างทุกวันนี้
.
.
อันที่จริงนั้นกาแฟก็เป็นอาหารมาก่อน ก่อนจะกลายมาเป็นเครื่องดื่มอย่างทุกวันนี้ เพราะปรากฏว่า นายแพทย์ชาวอาหรับชื่อ ราเซส ( Rhazes) ได้กล่าวไว้ในเอกสารตั้งแต่ ค.ศ.900 (พ.ศ.1443) ว่า กาแฟนี้เริ่มแรกใช้เป็นอาหารก็นำเอาผลกาแฟที่ตากแห้งแล้ว แกะเอาเมล็ดออกผสมกับน้ำมัน ปั้นเป็นก้อนกลมๆ นอกจากนั้นก็ยังนำไปทำไวน์โดยใช้เมล็ดดิบและเปลือกแห้งคั้นน้ำแล้วนำไปหมักให้เกิดแอลกอฮอร์เพื่อใช้เป็นเครื่องดื่ม
.
.
จะว่าไปแล้วผมเองนั้น แม้ว่าจะดื่มกาแฟและเห็นต้นกาแฟมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบกว่าๆซึ่งนั้นก็ร่วม 40 ปีมาแล้ว แต่ก็ไม่ถือว่าตนเองนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งการปลูกและการดื่ม แต่อย่างใด แต่เนื่องจากสอนหนังสือในวิชาการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอยู่ เวลาที่ผมมอบหมายให้ลกศิษย์ทำรายงาน พบว่าการทำธุรกิจร้านกาแฟเป็นเรื่องที่นักศึกษาสนใจทำรายงานกันมามากเป็นพิเศษ และคิดว่าข้อมูลเหล่านี้หากนำมาเรียบเรียงและค้นคว้าเพิ่มเติมก็น่าจะมีประโยชน์กับผู้สนใจทั้งคนปลูก คนได้ และคอกาแฟได้บ้าง หากข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยผู้รู้ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย นะครับ
.
““““““““““”””””””””
.
““““““““““”””””””””
เอกสารอ้างอิง
เอกสาร ความรู้เกี่ยวกับกาแฟ ของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รายงานวิชาการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เรื่องธุรกิจบ้านไร่กาแฟ ปี 2552 ของภัทรศยา รัตนสีหา นิสันต์ หอมบุญ อาภากร วทัญญู และปัญมาสน์ ประดิษฐ์วงศ์กูล
http://www.banriecoffee.com/
http://www.me.ru.ac.th/docs/bannrai.doc
http://www.chaonet.com/webindexsearch.php?phrase=บ้านไร่กาแฟ
http://www.bangkokspace.com/dinner-restaurant.aspx?cid=?place=144 http://www.everykid.com/worldnews2/coffee/index.html
http://www.pantown.com/
http://www.thaigoodview.com/
...................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น