วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

(2)

ธุรกิจร้านกาแฟ
ธุรกิจร้านกาแฟในช่วงระยะหลายๆปีมานี้ มีอัตราการขยายตัวทางธุรกิจที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีผู้ลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้เป็นจำนวนมาก ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่า ตลาดธุรกิจร้านกาแฟยังเปิดกว้างอยู่ค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจใดก็คือการทำธุรกิจ ซึ่งความสำเร็จก็มีอยู่คู่กับความเสี่ยงเสมอ ดังนั้นการประกอบ ธุรกิจร้านกาแฟก็เป็นเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตและอนาคตค่อนข้างสดใสมาก ตราบใดที่กาแฟยังสามารถสร้างสุนทรีย์ให้กับผู้ที่รักการดื่มการแฟได้อย่างต่อเนื่อง แต่การทำธุรกิจตามกระแส ผู้ประกอบการอาจไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังไว้ ผู้ประสบความสำเร็จได้ต้องรู้จริงในธุรกิจที่ตนเองจะทำ ผู้ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจร้านกาแฟจึงควรศึกษาข้อมูลบางส่วนไว้ ดังนี้


วิวัฒนาการของร้านกาแฟ
ร้านกาแฟบ้านเราเริ่มจากร้านค้าเล็กๆรถเข็น คนหาบ กระทั่งพายเรือขายกาแฟที่เราท่านเคยเห็นกันมาตั้งแต่สมัยผู้เขียนยังเป็นเด็ก จะมีถุงชงกาแฟแล้วเทใส่แก้ว แล้วเติมด้วย น้ำตาลหรือนม เพื่อเพิ่มรสหวาน ก่อนคนให้เข้ากัน หากดื่มในตอนเช้าแล้วก็ต้องทานกับปาท่องโก๋ ข้าวเหนียวปิ้ง เป็นของทานเสริม และมีโต๊ะกลมและเก้าอี้นั่ง แบบหัวโล้น ซึ่งมักจะพบเห็นได้ตามตลาดสด สถานที่คนพลุกพล่าน คอกาแฟทั้งหลายมาดื่มกาแฟร่วมกัน แล้วอาจสนทนาแลกเปลี่ยนข่าวสาร ตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทั้งที่เป็นเรื่องเป็นราว ไปจนกระทั่งถึงนินทาชาวบ้าน การออกแบบร้านก็จะเป็นแบบเรียบ เน้นขายผลิตภัณฑ์มากกว่าขาย Design หรือรูปลักษณ์เหมือนเช่นในปัจจุบัน ยุคต่อมากาแฟ ร้านการแฟได้วิวัฒนาการมาเรื่อยๆจนกระทั่งมาเป็นแบบปัจจุบันที่มีการขายกันตามห้างสรรพสินค้า ตามปั๊มน้ำมัน มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อเน้นการแข่งขันกันมากข้น เพราะว่าในปัจจุบันคู่แข่งมีมากทั้งร้านที่เป็นของคนไทย ร้านที่เป็นสาขาของต่างประเทศ แม้แต่ร้านกาแฟโบราณก็มีการปรับตัวปรับรูปลักษณ์ เพื่อให้สามารถดำรงค์อยู่และแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหม่ๆที่เข้ามาทำธุรกิจนี้
นอกจากนั้นปัจจุบันนี้ ตลาดของคนดื่มกาแฟมีการขยายตัวมากขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณและเนื้อหา ซึ่งสามารถสังเกตได้จาก ผลิตภัณฑ์กาแฟในท้องตลาดจะมีมากขึ้น และหลากหลายรูปลักษณ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกาแฟซอง กาแฟกระป๋อง กาแฟสดคั่ว หลายยี่ห้อ ราคาก็มีตั้งแก้วละ 10 บาท จนถึงแก้วละ 100 บาท ธุรกิจร้านกาแฟเกิดขึ้นมากมายในทุกสถานที่ ทั้งห้างสรรพสินค้า ตึกสูงที่เป็นสถานที่ทำงาน อาคารที่พักอาศัยร้านค้าตามถนนหนทาง ไปจนกระทั้งปั๊มน้ำมันดังกล่าวแล้ว และแนวโน้มของคนดื่มกาแฟจะหันมานิยมรสชาติของกาแฟคั่วบด ที่มีรสชาติเข้มข้นหอมมันมากขึ้น ได้มีร้านกาแฟซึ่งเป็นการขยายตัวจากต่างประเทศเข้ามาเปิดสาขาทำธุรกิจประเภทนี้ในไทยมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนแปลงรสนิยมของผู้บริโภคดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากเห็นช่องทางที่จะสามารถทำธุรกิจกาแฟได้จากวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน
ธุรกิจร้านกาแฟกับโอกาสเติบโต
กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีกลิ่นและรสเป็นเอกลักษณ์ และเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลกจำนวนมากมาช้านาน ถึงแม้ว่า กาแฟจะไม่ได้เป็นเครื่องดื่มที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย แต่กาแฟก็เป็นเครื่องดื่มที่คนไทยรู้จักและบริโภคมาเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 200 ปีแล้ว โดยในประเทศไทยมีการปลูกกาแฟหลายพันธุ์ และหลายภูมิภาค อีกทั้งมีการพัฒนาวิธีการนำกาแฟมาผลิตเป็นเครื่องดื่มในลักษณะต่างๆ และมีรสนิยมการบริโภคกาแฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น โอเลี้ยง กาแฟเย็น หรือกาแฟโบราณที่ใช้ถุงกาแฟชง ซึ่งแตกต่างไปจากรสนิยมของต่างชาติที่นิยมบริโภคกาแฟกันอย่างแพร่หลาย อย่างสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป เป็นต้น ปัจจุบันธุรกิจร้านกาแฟเป็นธุรกิจที่มีอัตราการขยายตัวสูง ผู้ประกอบการขนาดย่อมมีการปรับปรุงธุรกิจของตนเอง รวมทั้งมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก ถึงแม้กาแฟจะเป็นเครื่องดื่มที่มีจำหน่ายและเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน แต่ลักษณะความนิยมและพฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนไทย จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากชาวต่างประเทศ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดผลิตภัณฑ์กาแฟมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์กาแฟในปี 2548 เท่ากับ 21,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณที่เติบโตมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ นับจากปี 2545 และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 10 โดยแยกเป็นกาแฟผงสำเร็จรูป 9,300 ล้านบาท กาแฟกระป๋อง 7,000 ล้านบาท และร้านกาแฟพรีเมี่ยม 4,700 ล้านบาท ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาเฉพาะร้านกาแฟพรีเมี่ยม จะเห็นได้ว่า ปริมาณการขายเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 500 ล้านบาทต่อปี เริ่มจาก 3,000 ล้านบาทในปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็น 3,500 ล้านบาทในปี 2546 ขยับเป็น 4,000 ล้านบาทในปี 2547 ที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,700 ล้านบาทภายในปี 2548 ผู้เขียนคาดการณ์ว่า ในปีปัจจุบัน (2552) ปริมาณการตลาดของกาแฟพรีเมี่ยมน่าจะอยู่ที่ ไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท เนื่องมาจากปริมาณร้านกาแฟพรีเมี่ยมที่เปิดตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้บริโภคหันมาดื่มกาแฟคั่วบดแทนกาแฟผงสำเร็จรูปมากขึ้น ความนิยมในร้านกาแฟพรีเมี่ยมส่งผลให้มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านช่องทางการจำหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการในพื้นที่ร้านค้าสมัยใหม่หรือ Modern Trade ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ดีสเคาน์สโตร์ ทำให้เกิดการแย่งพื้นที่ทำเลดี ทำให้ต้นทุนในการขยายสาขาแต่ละแห่งเพิ่มสูงขึ้น ทางผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์โดยการเน้นความหลากหลายและสร้างความแตกต่าง โดยขยายสาขาเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยทำเลนอกร้านค้าสมัยใหม่ที่น่าสนใจ คือ ปั๊มน้ำมัน โรงภาพยนตร์ รถไฟฟ้า ศูนย์แสดงสินค้า ร้านหนังสือ โรงพยาบาล สถานออกกำลังกาย สถานีรถไฟฟ้า และท่าอากาศยาน อย่างไรก็ตาม ร้านกาแฟในปั้มน้ำมันนั้น ถือเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตและรายได้ที่น่าสนใจมากธุรกิจหนึ่ง เพราะตลาดรวมยังขยายตัวได้อีกมาก ขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในแต่ละวันไม่สูงนัก เนื่องจากวัตถุดิบส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก โดยร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันจะมีรายได้อยู่ประมาณวันละ 3,000-6,000 บาท หรือมีกำไรประมาณวันละ 1,000 บาท ร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันถือเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่น่าสนใจและน่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันตลาดร้านกาแฟอยู่ในช่วงขยายตัว และมีฐานลูกค้ารองรับอีกมาก ขณะที่จำนวนร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน ถึงแม้ปัจจุบันมีอยู่หลายร้อยร้าน แต่ก็ยังไม่ถือว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงมากนัก การที่ธุรกิจร้านกาแฟจากต่างชาติยังทยอยกันเข้ามาลงทุนเปิดกิจการในเมืองไทย แสดงว่า ตลาดของธุรกิจกาแฟนี้ยังมีอนาคต และได้รับการประเมินว่ายังขยายตัวต่อไปได้ ขณะเดียวกัน ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยจากการรุกรานของธุรกิจข้ามชาติที่กดดันให้ร้านกาแฟของนักลงทุนไทยต้องปรับตัว ทั้งรสชาติและบริการ เพื่อเผชิญการบุกตลาดของเครือข่ายร้านกาแฟชื่อดังจากต่างประเทศ นอกจากการปรับตัวเพื่อรับการแข่งขันของบรรดาร้านกาแฟพรีเมี่ยมที่เป็นเครือข่ายสาขาจากต่างประเทศแล้ว บรรดาร้านกาแฟพรีเมี่ยมของไทยยังหันไปขยายสาขาในต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีร้านกาแฟพรีเมี่ยมไทยใน 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ธุรกิจร้านกาแฟพรีเมี่ยมยังคงเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน เนื่องจากการที่โอกาสทางธุรกิจยังเปิดกว้าง จากการที่ปริมาณการบริโภคกาแฟของคนไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และส่วนใหญ่ยังนิยมบริโภคกาแฟสำเร็จรูป ซึ่งธุรกิจร้านกาแฟ พรีเมี่ยมนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคกาแฟของคนไทย นอกจากนี้ ปัจจุบันธุรกิจร้านกาแฟพรีเมี่ยมกำลังกลายเป็นร้านที่อยู่ในกระแสความนิยม โดยมีผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 10 ยี่ห้อ ที่ประกาศขยายธุรกิจด้านนี้อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2543 ทั้งในการขยายร้านกาแฟพรีเมี่ยมในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรายย่อยก็ต้องเข้ามาในธุรกิจนี้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากมีความเสียงสูงกว่านักลงทุนรายใหญ่ที่มีทั้งกำลังเงินและความรู้ด้านเทคโนโลยี่ รวมทั้งเทคนิคการพลิกแพลงตลาด เพื่อขยายฐานการบริโภค ทำให้มีโอกาสในการประสบความสำเร็จในธุรกิจมากกว่า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ว่า ผลิตภัณฑ์กาแฟทุกประเภทยังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และสามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากอัตราการบริโภคกาแฟของคนไทยในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คือ บริโภคน้อยกว่าร้อยละ 0.5 กิโลกรัม/คน/ปี หรือคิดเป็นเพียง 130-150 ถ้วย/คน/ปี เท่านั้น (หรือเฉลี่ยไม่ถึงหนึ่งแก้ว/คน/วัน) เพราะปริมาณคนไทยที่บริโภคกาแฟเป็นประจำมีเพียงร้อยละ 30 (หรือไม่ถึง 2 ล้านคน) จากประชากรคนไทยทั้งหมดกว่า 60 ล้านคน ซึ่งยังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียอย่างเช่น ญี่ปุ่น ดื่มกาแฟเฉลี่ย 500 แก้ว/คน/ปี หรืออเมริกาที่ดื่มกาแฟเฉลี่ย 700 แก้ว/คน/ปี (หรือเฉลี่ย 2 แก้ว/คน/วัน) ดังนั้น ธุรกิจผลิตภัณฑ์กาแฟยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก แต่คาดหมายว่าการแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์กาแฟต่างๆ จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
หากจะกล่าวโดยสรุปเราจะเห็นได้ว่าตลาดร้านกาแฟโดยเฉพาะร้านการแฟพรีเมี่ยมยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะว่าคนไทยเรามีการดื่มกาแฟมานานพอสมควรแม้ว่ากาแฟจะไม่ใช่พืชที่มีถิ่นกำเนิดในบ้านเราก็ตาม พวกเราที่มีอายุราวๆ 60 ปีลงมาคงจะเห็นร้านกาแฟ ที่เป็นสถานที่ที่ผู้คนมาดื่มกาแฟและสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องต่างๆตั้งแต่การบ้านยันการเมือง ตั้งแต่เรื่องที่มีสาระจนกระทั่งเรื่องสัพเพเหระ จนมีคำว่า “สภากาแฟ” อันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป สภาพดังกล่าวนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยนั้นได้สร้างวัฒนธรรมในการดื่มกาแฟของตนเองขึ้น ซึ่งมีทั้งความเหมือนและแตกต่างกับคนชาติอื่นๆ การรุกเข้ามาของร้านกาแฟสัญชาติอื่นๆ จำเป็นต้องทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจกาแฟนี้ จะต้องปรับกลยุทธ์ทั้งรุกและรับ ให้ทันกับสถานการณ์ทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะร้านกาแฟพรีเมี่ยม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยตอนจะเติบโตในอัตราที่ติดลบ แต่ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจกาแฟ คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดจะทะลุระดับ 8,000 ล้านบาท ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน แต่การปรับกลยุทธ์นี้ จะต้องไม่ลืมการพัฒนาที่ยืนอยู่บนพื้นฐานที่เข้มแข็งของวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของไทยเราด้วย เพราะหากเราทำได้ ในการค้นหารูปลักษณ์ที่ลงตัว ก็ไม่แน่เช่นกันว่าร้านกาแฟสัญชาติไทยไม่เพียงแต่จะเติบโตได้ในประเทศ หากอาจไปเติบโตในตลาดต่างประเทศได้อย่างไม่ต้องอายใครๆชาติไหนๆได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม