วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

คุณธรรมกับการศึกษาออนไลน์….???



.


ยุคสมัยนี้ที่เป็นโลกยุคโลกาภิวัตน์(Globalization) เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากพลังขับเคลื่อนของเทคโนโลยีสารสนเทศ ( IT) ในกับเทคโนโลยีการสื่อสาร (ICT) กับการผสมผสานของสื่อสารมวลชนในลักษณะใหม่ๆ ทำให้ในปัจจุบัน ทำให้โลกยุคปัจจุบัน อินเทอร์เน็ต(Internet) และสื่ออย่างใหม่(New Media) ได้มีอิทธิพล(Influence) ต่อการติดต่อสื่อสารของมนุษย์เป็นอย่างมาก การพัฒนาขึ้นของระบบคอมพิวเตอร์และระบบโทรคมนาคม ในสภาพปัจจุบัน ทำให้ระบบสารสนเทศและสื่อสารมวลชนไม่เพียงเป็นเรื่องของการประมวลผล และการรับส่งข้อมูลและความรู้แบบเดิมๆเท่านั้น หากได้มีการผสมผสานทางเทคโนโลยีจนเกิดเป็นโลกเสมือน (Virtual World) ขึ้นมา ในโลกเสมือนดังกล่าวนี้ ประกอบไปด้วยองค์กรเสมือน เครือข่ายเสมือน การพาณิชย์ในโลกเสมือน เป็นต้น และในโลกเสมือนดังกล่าวเราสามารถเห็นได้ว่ามนุษย์สามารถประกอบกิจกรรม ธุรกรรม หลายๆอย่างได้เหมือนในโลกจริงๆในโลกเสมือนนี้ อินเตอร์เน็ท (Internet) เปรียบเสมือน “ของขวัญแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศ” ที่สวรรค์ประทานมาให้กับมนุษย์ และเพียงแค่มนุษย์ใช้ปลายนิ้วสัมผัสบนคอมพิวเตอร์ มนุษย์ก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ต ในการประกอบธุรกิจ(E-Commerce) ในการติดต่อสื่อสาร(Communication) ในการเปิดโลกทัศน์ หรือแม้แต่การใช้อินเทอร์เน็ต (Internet) เพื่อการแสวงหาองค์ความรู้(Knowledge)ใหม่ๆได้โดยง่ายดาย

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป “สื่ออย่างใหม่” ชนิดนี้ ไม่เพียงสร้างคุณอนันต์ หากยังสร้างโทษมหันต์ให้กับมนุษย์อีกด้วย สื่อสารสนเทศและสื่อใหม่ๆเหล่านี้ได้กลายเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิด “ปัญหาอาชญากรรม” และยิ่งเวลาผ่านไปยาวนานเท่าไร ปัญหาอาชญากรรมอันเกิดจากโลกอินเทอร์เน็ต (Internet) ยิ่งกลับทวีความรุนแรง และกลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังที่อยู่คู่กับสังคมเสมือนเป็นเวลายาวนาน ในขณะที่ภาครัฐก็ไม่มีทีท่าว่าจะสามารถหาหนทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปได้ ตรงกันข้าม ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นภัยมืดที่มอมเมา คุกคามชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชน เป็นบ่อเกิดของปัญหาอาชญากรรมที่มีผลสืบเนื่องมาจาก “การก่ออาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต” ดังนั้นการค้นหาวิธีการและแนวคิดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หนึ่งในหลายๆวิธีนั้นคือ การสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในพื้นที่ไซเบอร์ โดยการจัดการศึกษาในระบบออนไลน์

จากการที่ในช่วงที่ผ่านมาผมได้มีการเขียนบทความเกี่ยวกับการจัดการศึกษาบนพื้นที่ไซเบอร์ขึ้น ก็ได้มีข้อคิดเห็นตอบกลับมาทั้งในแง่ของคำถามต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดการเรียนการสอน แต่ก็มีผลตอบกลับมาจำนวนหนึ่งที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมของบุคลากรที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการศึกษาบนพื้นที่ไซเบอร์ หรือการศึกษาออนไลน์ โดยเฉพาะบุคลากรที่เป็นอาจารย์ผู้สอน ในสังคมทั่วไปเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ครูบาอาจารย์นั้นนอกจากจะต้องมีความรู้ ความสามารถแล้วยังต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมที่มากกว่าบุคคลอื่นด้วย ดังนั้นในพื้นที่ไซเบอร์ (Cyberspace) ซึ่งเกิดขึ้น เพื่อจะเป็นเสาหลักให้แก่การพัฒนารศึกษาระบบดังกล่าว สำหรับผู้เรียนนั้นความซื่อสัตย์ต่อตนเองในการเรียนรู้ การซื่อสัตย์ต่อตนเองในการเข้าเรียนในระบบไซเบอร์ รวมไปถึงการคัดลอกผลงานทางวิชาการ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันอย่างจริงจัง การดำเนินการต่างๆเพื่อให้สามารถทำการจัดการศึกษาและจัดกรรมเสริมหลักสูตราในพื้นที่ไซเบอร์นี้ได้อย่างเหมาะสม ก็ต้องมีการพัฒนาบุคคลต่างๆที่จะต้องมีความรู้ ความสามารถ คู่กับการมีคุณธรรมและจริยธรรมพื้นฐานเหมือนในสังคมจริงๆโดยทั่วไป ซึ่งการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมโดยเฉพาะตัวของครูบาอาจารย์ ตลอดคุณธรมและจริยธรรมของนักศึกษาในการศึกษาโลกเสมือนจริงและพื้นที่ไซเบอร์ดังกล่าวจึงมีความสำคัญยิ่ง

เมื่อเป็นดังนั้น แม้ในบางเรื่องเราต้องพร้อมที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางคุณค่า ต่างๆที่ต้องเกิดขึ้น โดยที่เราจะต้องเตรียมรับมือให้พร้อม ไม่ปล่อยเลยตามเลย เพราะการศึกษาในโลกเสมือนจริง หรือโลกอินเทอร์เน็ต ที่มีการดำเนินการกิจกรรมทางการเรียนรู้ต่างๆบนพื้นที่ไซเบอร์เป็นส่วนใหญ่นี้ เราจะไปเรียกร้องและคาดหวังว่า การพิจารณาในเรื่องกรอบความสัมพันธ์ทาง คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรมและความรับผิดชอบ ในระดับเดียวกับสิ่งต่างๆที่กล่าวมานี้ในโลกและสังคมจริงๆ คงจะไม่สอดคล้องเสียทีเดียว และยิ่งเราไม่ยอมรับว่าในโลกสมัยใหม่ดังกล่าวนี้ การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างนั้นยากที่กลับไปสู่คุณค่าแบบเดิมๆได้อีกแล้ว ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตามที ทำให้การเรียกร้องหรือคาดหวังว่า คุณธรรม จริยธรรมทุกอย่างในการดำเนินกิจกรรมบนพื้นที่ไซเบอร์ต้องเป็นแบบที่เกิดในโลกจริง หรือการไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเลยนั้นอาจจะขัดกับธรรมชาติของโลกอินเทอร์เน็ต การมองแบบนั้นอาจไปขัดกับเสรีภาพในทางความคิด ความเชื่อ ซึ่งในโลกอินเตอร์เน็ตนั้น ความคิดความเชื่อบางอย่างเป็นเสรีภาพที่ข้ามพรมแดน ดังกล่าวแล้ว แต่อย่างไรก็ตามหากเราจะปล่อยเลยตามเลย โดยไม่มีการพิจารณาเรื่องการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมที่เหมาะสมของบุคคลากรในการศึกษาออนไลน์ ก็จะเท่ากับเราไม่ปกป้องคนของเราที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือมีความอ่อนแอทางความคิดและประสบการณ์ และที่น่าเป็นห่วงมากก็คือตัวนักศึกษา เองซึ่งเป็นเป้าหมายของการจัดการศึกษา เพราะการจัดการศึกษาออนไลน์ประการหนึ่งก็คือเพื่อเปิดพื้นที่ที่จะให้บุคลากรของเรา ได้มาใช้ในการทำกิจกรรมทางการศึกษา ซึ่งนักศึกษาจะได้รับการเรียนรู้ทางทฤษฎี ความรู้ และทักษะ ไปพร้อมๆกับการยกระดับทาง คุณธรรมและจริยธรรมไปพร้อมกัน ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่

เราจะเห็นได้ว่าการที่เทคโนโลยีสารสนเทศได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดการบูรณาการขึ้นเป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet) เป็นโลกเสมือนจริง (Virtual World) และพื้นที่ไซเบอร์ (Cyberspace) ได้เกิดผลประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างมากมายมหาศาล ไม่เพียงแต่ในด้านการติดต่อสื่อสารข้อมูลสารสนเทศเท่านั้น หากยังได้มีการขยายกิจกรรมไปสู่การพาณิชย์ การศึกษา การจัดเก็บภาษี การค้นคว้าวิจัย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมและองค์กรอย่างมากมายเช่นเดียวกันโดยเฉพาะผลกระทบด้านลบ เช่นการล่อลวง การก่ออาชญากรรม การให้ร้าย การขโมยข้อมูลและรหัสลับ การค้าประเวณีและการค้ายาเสพติดทางอินเทอร์เน็ต การเผยแพร่ภาพที่ไม่เหมาะสมของบุคคลอื่น ตลอดจนการสื่อสารเพื่อการก่อการร้าย เป็นต้น ซึ่งผมมีความเห็นว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะ บุคลากรส่วนใหญ่ได้รับการฝึกฝนและเข้าสู่โลกแห่งนี้ จากเพื่อนแนะนำเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเพื่อที่จะลดความเสียหายจากผลกระทบทางลบเหล่านี้ให้บรรเทาเบาบางลง นอกจากมาตรการอื่นๆแล้ว การจัดการศึกษาออนไลน์ในระบบที่สามารถส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ไปควบคู่กับให้ความรู้และทักษะต่างๆแก่เยาวชนและนักศึกษาของเรา จึงเป็นเรื่องจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

กล่าวโดยสรุปแล้วการพัฒนาระบบคุณธรรม จริยธรรมในโลกระบบการศึกษาออนไลน์ ดังกล่าว การถามหาจรรยาบรรณของครูบาอาจารย์ การพยายามทำความเข้าใจรายละเอียดของคุณธรรมและจริยธรรมในหมู่บุคลากร ในระบบการศึกษาโลกเสมือนจริงและการพยายามสร้างจรรยาบรรณของบุคคลากรของบุคคลากรสำหรับการศึกษาบนพื้นที่ไซเบอร์เพื่อมาดูแลควบคุมกันเองอย่างเหมาะสม แต่ขณะเดียวกันการพยายามให้สถาบันหลักๆในทางการศึกษาในโลกจริงได้เข้าใจ ก็เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมาก เพราะเราต้องไม่ทำให้ผู้คนคาดหวังว่า การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณในโลกเสมือนจริงนั้น จะต้องเหมือนการจำลองโลกจริงๆเข้าไปไว้ในพื้นที่ไซเบอร์เสียเลยทีเดียว เพราะการคาดหวังเช่นนั้นอาจเป็นการไม่เข้าใจธรรมชาติของการทำงานในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ทุกอย่างเป็นเรื่องไร้พรมแดน ทุกอย่างเป็นเรื่องสากล ทุกอย่างเป็นเรื่องของความรวดเร็ว แต่ที่กล่าวมานี้ก็เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม ประเพณี เฉพาะที่ดีงามของเราในกระบวนการจัดการศึกษาบนพื้นที่ไซเบอร์ให้มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง และอยากให้คิดว่าความพอดีและเหมาะสมในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ในการศึกษาบนพื้นที่ไซเบอร์อยู่ที่ไหน เพื่อที่เราจะสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ทางคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณที่เหมาะสมทางการศึกษา และผลักดันให้มีการดำเนินการอย่างเป็นจริงให้เป็นผลสำเร็จ โดยมุ่งให้การศึกษาดังกล่าวนี้ได้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของบุคลากรทุกส่วน โดยเฉพาะนักศึกษา เพื่อให้เรื่องนี้เป็นเสาค้ำที่สำคัญเสาหนึ่ง ในการพัฒนาการศึกษาในโลกเสมือนให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนยิ่งขึ้นได้ในที่สุดนั่นเอง

วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552

Issued a Warrant of Arrest for Red-shirted Protesters




.

Issued a Warrant of Arrest for 14 Red-shirted Protesters Including Mr.Thaksin Shinawatra
Nation News Channel 19:49 p.m.The Criminal Court issued a warrant of arrest for 14 leaders of the United Front for Democracy Against Dictatorship or the Red Shirted Protesters. These 14 leaders including Mr.Thaksin Shinavatra, Mr.Chakrapop Penkhair, Mr.Wera Musikapong, MD.Weng Tojirakarn, Mr.Jatuporn Prompan, Mr.Nattawuth Saikue, Mr.Suporn Attawong, Mr.Shinawut Habunpath, Mr.Waipoj Arpornrat,etc.
Today (14 April) Reporter reported that the Criminal Court of Thailand issued a warrant of arrest for 14 leaders of the United Front for Democracy Against Dictatorship or the Red Shirted Protesters. These 14 leaders including Mr.Thaksin Shinavatra, Mr.Chakrapop Penkhair, Mr.Wera Musikapong, MD.Weng Tojirakarn, Mr.Jatuporn Prompan, Mr.Nattawuth Saikue, Mr.Suporn Attawong, Mr.Shinawut Habunpath, Mr.Waipoj Arpornrat, etc.
Colonel Sunsern Keawkamnerd, Thai Army announcer told through a television channel 3 that there are stills has about 500 protesters at the Royal Plaza; Sanam Luang. These protesters do not wear red-shirted. The protesters excited that the soldiers kill the protesters. The colonel told that the military use blank bullets during performs the duties. However, the soldiers also used the real bullet when they shoot into the sky to threaten the protesters only. However, there are some injured protesters but not from the soldiers weapons (M.16).


(Manager Daily)
@@@@@@@

วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2552

ธุรกิจร้านกาแฟ (2)




โอกาสทางธุรกิจของร้านกาแฟสด
หากมองโอกาสในการทำธุรกิจ SME ในช่วงระยะหลายๆปีมานี้ ธุรกิจร้านกาแฟสดถือเป็นธุรกิจที่มีอัตราการขยายตัวทางธุรกิจที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้เป็นจำนวนมาก ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่า ตลาดธุรกิจร้านกาแฟสดยังเปิดกว้างอยู่ค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจใดๆก็คือการทำธุรกิจ ซึ่งความสำเร็จก็มีอยู่คู่กับความเสี่ยงเสมอ ดังนั้นการประกอบธุรกิจร้านกาแฟก็เป็นเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตและอนาคตค่อนข้างสดใสมาก ตราบเท่าที่กาแฟยังสามารถสร้างสุนทรีย์ให้กับผู้ที่รักการดื่มการแฟได้อย่างต่อเนื่อง แต่การทำธุรกิจตามกระแสนั้นก็มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งอาจไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังไว้ เพราะผู้ประสบความสำเร็จได้นั้นต้องมีความรู้จริงในธุรกิจที่ตนเองจะทำ ผู้ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจร้านกาแฟสดจึงควรศึกษาข้อมูลที่สำคัญๆบางส่วนไว้ ดังนี้
.
วิวัฒนาการของร้านกาแฟสด
ร้านกาแฟสดบ้านเราในระยะแรกๆเริ่มจากร้านค้าเล็กๆหรือขายตามรถเข็น รวมทั้งหาบขาย กระทั่งพายเรือขายกาแฟที่เราท่านเคยเห็นกันมาตั้งแต่สมัยผู้เขียนยังเป็นเด็ก อุปกรณ์ก็จะมีถุงชงกาแฟแล้วเทใส่แก้ว แล้วเติมด้วย น้ำตาลหรือนม เพื่อเพิ่มรสหวาน ก่อนคนให้เข้ากัน หากดื่มในตอนเช้าแล้วก็ต้องทานกับปาท่องโก๋ ข้าวเหนียวปิ้ง เป็นของทานเสริม และมีโต๊ะกลมและเก้าอี้นั่ง แบบหัวโล้น ซึ่งมักจะพบเห็นได้ตามตลาดสด สถานที่คนพลุกพล่าน คอกาแฟทั้งหลายมาดื่มกาแฟร่วมกัน แล้วอาจสนทนาแลกเปลี่ยนข่าวสาร ตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทั้งที่เป็นเรื่องเป็นราว ไปจนกระทั่งถึงนินทาชาวบ้าน การออกแบบร้านก็จะเป็นแบบเรียบ เน้นขายผลิตภัณฑ์มากกว่าขายการออกแบบ (Design) หรือรูปลักษณ์เหมือนเช่นในปัจจุบัน ยุคต่อมา ร้านกาแฟสดได้วิวัฒนาการมาเรื่อยๆจนกระทั่งมาเป็นแบบปัจจุบันที่มีการขายกันตามห้างสรรพสินค้า ตามปั๊มน้ำมัน มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อเน้นการแข่งขันกันมากข้น เพราะว่าในปัจจุบันคู่แข่งมีมากทั้งร้านที่เป็นของคนไทย ร้านที่เป็นสาขาของต่างประเทศ แม้แต่ร้านกาแฟโบราณก็มีการปรับตัวปรับรูปลักษณ์ เพื่อให้สามารถดำรงอยู่และแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหม่ๆที่เข้ามาทำธุรกิจนี้
.
นอกจากนั้นปัจจุบันนี้ เมื่อตลาดของคนดื่มกาแฟมีการขยายตัวมากขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณและเนื้อหา ซึ่งสามารถสังเกตได้จาก ผลิตภัณฑ์กาแฟในท้องตลาดจะมีมากขึ้น และหลากหลายรูปลักษณ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกาแฟซอง กาแฟกระป๋อง กาแฟสดคั่ว มีหลากหลายยี่ห้อ ส่วนราคาก็มีตั้งแก้วละ 10 บาท จนถึงแก้วละ 100 บาท ธุรกิจร้านกาแฟได้เกิดขึ้นมากมายในทุกสถานที่ ทั้งห้างสรรพสินค้า ตึกสูงที่เป็นสถานที่ทำงาน อาคารที่พักอาศัยร้านค้าตามถนนหนทาง ไปจนกระทั้งปั๊มน้ำมันดังกล่าวแล้ว และแนวโน้มของคนดื่มกาแฟจะหันมานิยมรสชาติของกาแฟสดแบบคั่วบด ที่มีรสชาติเข้มข้น มีกลิ่นหอมมากขึ้น การเปลี่ยน แปลงรสนิยมของผู้บริโภคดังกล่าวแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากเห็นช่องทางที่จะสามารถทำธุรกิจกาแฟได้จากวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบันซึ่งนอกจากร้านกาแฟของคนไทยแล้ว ก็มีร้านกาแฟซึ่งเป็นการขยายตัวจากกลุ่มธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาเปิดสาขาทำธุรกิจประเภทนี้ในไทยอย่างคึกคักมากขึ้น
.
ขนาดของตลาดและโอกาสเติบโต
กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีกลิ่นและรสเป็นเอกลักษณ์ และเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลกจำนวนมากมาช้านาน ถึงแม้ว่ากาแฟจะไม่ได้เป็นเครื่องดื่มที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย แต่กาแฟก็เป็นเครื่องดื่มที่คนไทยรู้จักและบริโภคมาเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 200 ปีแล้วตามที่กล่าวไปแล้วตั้งแต่ตอนต้น โดยในประเทศไทยมีการปลูกกาแฟหลายพันธุ์ และหลายภูมิภาคโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคใต้ อีกทั้งได้มีการพัฒนาวิธีการนำกาแฟมาผลิตเป็นเครื่องดื่มในลักษณะต่างๆ และมีรสนิยมการบริโภคกาแฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น โอเลี้ยง กาแฟเย็น หรือกาแฟโบราณที่ใช้ถุงกาแฟชง ถึงแม้กาแฟจะเป็นเครื่องดื่มที่มีจำหน่ายและเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน แต่ลักษณะความนิยมและพฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนไทย จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากชาวต่างประเทศ ที่นิยมบริโภคกาแฟกันอย่างแพร่หลาย อย่างสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป เป็นต้น ปัจจุบันธุรกิจร้านกาแฟในบ้านเรานั้นเป็นธุรกิจที่มีอัตราการขยายตัวสูง ผู้ประกอบการต้องมีการปรับปรุงธุรกิจของตนเอง รวมทั้งมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดผลิตภัณฑ์กาแฟมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์กาแฟในปี 2548 เท่ากับ 21,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณที่เติบโตมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ นับจากปี 2545 และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 10 ต่อปี โดยแยกเป็นกาแฟผงสำเร็จรูป 9,300 ล้านบาท กาแฟกระป๋อง 7,000 ล้านบาท และร้านกาแฟสดพรีเมี่ยม 4,700 ล้านบาท ตามลำดับ
.
เมื่อพิจารณาเฉพาะร้านกาแฟสดพรีเมี่ยม จะเห็นได้ว่า ปริมาณการขายเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 500 ล้านบาทต่อปี เริ่มจาก 3,000 ล้านบาทในปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็น 3,500 ล้านบาทในปี 2546 ขยับเป็น 4,000 ล้านบาทในปี 2547 ที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,700 ล้านบาทภายในปี 2548 ผู้เขียนคาดการณ์ว่า ในปีปัจจุบัน (2552) ปริมาณการตลาดของกาแฟพรีเมี่ยมน่าจะอยู่ที่ ไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท
.
เนื่องมาจากปริมาณร้านกาแฟสดพรีเมี่ยมที่เปิดตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้บริโภคหันมาดื่มกาแฟคั่วบดแทนกาแฟผงสำเร็จรูปมากขึ้น ความนิยมในร้านกาแฟพรีเมี่ยมส่งผลให้มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านช่องทางการจำหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการในพื้นที่ร้านค้าสมัยใหม่หรือ Modern Trade ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคาน์สโตร์ ทำให้เกิดการแย่งพื้นที่ทำเลดี ทำให้ต้นทุนในการขยายสาขาแต่ละแห่งเพิ่มสูงขึ้น ทางผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์โดยการเน้นความหลากหลายและสร้างความแตกต่าง โดยขยายสาขาเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยทำเลนอกร้านค้าสมัยใหม่ที่น่าสนใจ คือ ปั๊มน้ำมัน โรงภาพยนตร์ รถไฟฟ้า ศูนย์แสดงสินค้า ร้านหนังสือ โรงพยาบาล สถานออกกำลังกาย สถานีรถไฟฟ้า และท่าอากาศยาน อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันร้านกาแฟในปั้มน้ำมันก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ร้านกาแฟสดพรีเมี่ยมกำลังรุกคืบเข้าไป โดยเริ่มจากร้านบ้านไร่กาแฟ ซึ่งเป็นร้านกาแฟสดพรีเมี่ยมของไทยเป็นผู้บุกเบิก และขณะนี้ก็มีร้านกาแฟสดพรีเมี่ยมรายอื่นๆกำลังพิจารณาพื้นที่ปั๊มน้ำมัน ให้บริการแก่นักเดินทางผู้ต้องการพักรถ ไปพร้อมกับการพักผ่อน กับรสชาติอันหอมกรุ่นของกาแฟคั่วสดบดใหม่ๆ
.
เพราะตลาดของร้านธุรกิจกาแฟสดโดยรวมยังขยายตัวได้อีกมาก ขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในแต่ละวันไม่สูงนัก หากใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่จากภายในประเทศเป็นหลัก
โดยร้านกาแฟสดโดยเฉลี่ยจะมีรายได้อยู่ประมาณวันละ 3,000-6,000 บาท และมีกำไรประมาณวันละ 1,000 บาท ร้านกาแฟสดทั่วไปถือเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่น่าสนใจและน่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันตลาดร้านกาแฟอยู่ในช่วงขยายตัว และมีฐานลูกค้ารองรับอีกมาก ขณะที่จำนวนร้านกาแฟสดปัจจุบัน อาจเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและมีการแข่งขันกันสูงดังกล่าวแล้ว แต่การที่ธุรกิจร้านกาแฟสดจากต่างชาติยังทยอยกันเข้ามาลงทุนเปิดกิจการในเมืองไทย แสดงว่า ตลาดของธุรกิจกาแฟนี้ยังมีอนาคต และได้รับการประเมินว่ายังขยายตัวต่อไปได้ ขณะเดียวกัน ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยจากการรุกรานของธุรกิจข้ามชาติที่กดดันให้ร้านกาแฟของนักลงทุนไทยต้องปรับตัว ทั้งรสชาติและบริการ เพื่อเผชิญการบุกตลาดของเครือข่ายร้านกาแฟชื่อดังจากต่างประเทศ นอกจากการปรับตัวเพื่อรับการแข่งขันของบรรดาร้านกาแฟสดพรีเมี่ยมที่เป็นเครือข่ายสาขาจากต่างประเทศแล้ว บรรดาร้านกาแฟสดพรีเมี่ยมของไทยยังหันไปขยายสาขาในต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีร้านกาแฟสดพรีเมี่ยมไทยใน 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ธุรกิจร้านกาแฟสดพรีเมี่ยมยังคงเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน เนื่องจากการที่โอกาสทางธุรกิจยังเปิดกว้าง กล่าวโดยทั่วไปแล้วปริมาณการบริโภคกาแฟของคนไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และส่วนใหญ่ยังนิยมบริโภคกาแฟสำเร็จรูป ซึ่งธุรกิจร้านกาแฟสดพรีเมี่ยมนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคกาแฟของคนไทยไปในขณะเดียวกันด้วย นอกจากนี้ ปัจจุบันธุรกิจร้านกาแฟสดพรีเมี่ยมกำลังกลายเป็นร้านที่อยู่ในกระแสความนิยม โดยมีผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 10 ยี่ห้อ ที่ประกาศขยายธุรกิจด้านนี้อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2543 ทั้งในการขยายร้านกาแฟสดพรีเมี่ยมในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรายย่อยก็ต้องเข้ามาในธุรกิจนี้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากมีความเสียงสูงกว่านักลงทุนรายใหญ่ที่มีทั้งกำลังเงินและความรู้ด้านเทคโนโลยี่ รวมทั้งเทคนิคการพลิกแพลงตลาด เพื่อขยายฐานการบริโภค ทำให้มีโอกาสในการประสบความสำเร็จในธุรกิจมากกว่า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ว่า ผลิตภัณฑ์กาแฟทุกประเภทยังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และสามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากอัตราการบริโภคกาแฟของคนไทยในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คือ บริโภคน้อยกว่าร้อยละ 0.5 กิโลกรัม/คน/ปี หรือคิดเป็นเพียง 130-150 ถ้วย/คน/ปี เท่านั้น (หรือเฉลี่ยไม่ถึงหนึ่งแก้ว/คน/วัน) เพราะปริมาณคนไทยที่บริโภคกาแฟเป็นประจำมีเพียงร้อยละ 30 (หรือไม่ถึง 2 ล้านคน) จากประชากรคนไทยทั้งหมดกว่า 60 ล้านคน ซึ่งยังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียอย่างเช่น ญี่ปุ่น ดื่มกาแฟเฉลี่ย 500 แก้ว/คน/ปี หรืออเมริกาที่ดื่มกาแฟเฉลี่ย 700 แก้ว/คน/ปี (หรือเฉลี่ย 2 แก้ว/คน/วัน) ดังนั้น ธุรกิจผลิตภัณฑ์กาแฟยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก แต่คาดหมายว่าการแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์กาแฟต่างๆ จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
.
หากจะกล่าวโดยสรุปเราจะเห็นได้ว่าตลาดร้านกาแฟโดยเฉพาะร้านกาแฟสดพรีเมี่ยมยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะว่าคนไทยเรามีการดื่มกาแฟมานานพอสมควรแม้ว่ากาแฟจะไม่ใช่พืชที่มีถิ่นกำเนิดในบ้านเราก็ตาม พวกเราที่มีอายุราวๆ 60 ปีลงมาคงจะเห็นร้านกาแฟสด ที่เป็นสถานที่ที่ผู้คนมาดื่มกาแฟและสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องต่างๆตั้งแต่เรื่องการบ้านยันเรื่องการเมือง ตั้งแต่เรื่องที่มีสาระจนกระทั่งเรื่องสัพเพเหระ จนมีคำว่า “สภากาแฟ” อันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป สภาพดังกล่าวนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยนั้นได้สร้างวัฒนธรรมในการดื่มกาแฟของตนเองขึ้น ซึ่งมีทั้งความเหมือนและแตกต่างกับคนชาติอื่นๆ การรุกเข้ามาของร้านกาแฟสัญชาติอื่นๆ จำเป็นต้องทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจกาแฟสดของไทยจะต้องปรับกลยุทธ์ทั้งรุกและรับ ให้ทันกับสถานการณ์ทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะร้านกาแฟสด พรีเมี่ยม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยตอนจะเติบโตในอัตราที่ติดลบ แต่ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจกาแฟ คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดจะทะลุระดับ 8,000 ล้านบาท ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน แต่การปรับกลยุทธ์นี้ จะต้องไม่ลืมการพัฒนาที่ยืนอยู่บนพื้นฐานที่เข้มแข็งของวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของไทยเราด้วย เพราะหากเราทำได้ ในการค้นหารูปลักษณ์ที่ลงตัว ก็ไม่แน่เช่นกันว่าร้านกาแฟสัญชาติไทยไม่เพียงแต่จะเติบโตได้ในประเทศ หากอาจไปเติบโตในตลาดต่างประเทศได้อย่างไม่ต้องอายใครๆชาติไหนๆได้เช่นกัน
.

”””””””””””””””””””””””

วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2552

เข้าป่า.....!!!








.
“ชิงชัย ระหว่างเรียนกับงานคุณเลือกอย่างไหน.....???” ประภพ ถามผม หลังจากที่เราทักทายกันเรียบร้อยแล้ว และนั่งลงคนละฟากของโต๊ะนั่งเอนกประสงค์ ที่บริเวณใต้ตึกนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในราวๆต้นปี 2519
เราทั้งสองเป็นสมาชิกของกลุ่มนักศึกษาที่จัดตั้งขึ้นและเรียกตัวเองว่า “สหพันธ์นักศึกษาเสรี” ผู้ริเริ่มและก่อตั้งคือ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล แต่ระยะหลังๆก็ถอยๆออกไปนัยว่าเพื่อให้รุ่นหลังๆขึ้นมารับผิดชอบแทน
.
สหพันธ์นักศึกษาเสรี จัดตั้งขึ้นเพื่อรวมกลุ่มนักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัย เพื่อทำงานกับกรรมกรในโรงงานและชาวนาในชนบท ในระยะแรกก็มีการทำงานการเคลื่อนไหวทั้งด้านกว้างและด้านลึกทั้งในเมืองและในชนบทผมเองนั้นรับผิดชอบการทำงานอยู่ใน อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ การทำงานที่นั่นก็เป็นการจัดตั้งและขยายการจัดตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย โดยอาศัยการรวมตัวกันคัดค้านการสร้างเขื่อนชีบน เป็นสาระในการให้การศึกษาและปลุกระดมให้เข้าใจปัญหาเฉพาะหน้าของพวกเขา และเมื่อชาวนาได้ลุกขึ้นมากล้าต่อสู้กับอำนาจรัฐในปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว จึงมีการจัดกลุ่มให้การศึกษาทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พวกเขาจัดตั้งกันเป็นขบวนการชาวนาที่เข้มแข็งเพื่อต่อสู้ทางการเมืองละชนชั้นต่อไป
.
ในปลายปี 2518 เมื่อการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างทั้งสองฝ่าย ซ้ายและขวา สังคมนิยม และเผด็จการ เริ่มเข้มข้นขึ้น การข่มขู่คุกคามจากฝ่ายอำนาจรัฐ และมวลชนจัดตั้งของกองกำลังฝ่ายขวาจัดก็ค่อนข้างแรงขึ้น พวกเราเองซึ่งถูกจัดอยู่ในฝ่ายซ้ายก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้โดยตรง เพราะที่ตั้งของสหพันธ์นักศึกษาเสรีตอนนั้นอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราจะต้องมาประชุมกันแทบจะทุกเดือน เพื่อประชุมร่วมกับสมาชิกที่ทำงานอยู่ในจังหวัดและภูมิภาคอื่นๆ เช่นอุดรธานี พิษณุโลก รวมทั้งกลุ่มที่ทำงานอยู่ตามโรงงาน หลังจากประชุมเสร็จก็จะแยกย้ายกลับไปทำงานที่รับผิดชอบอยู่กันตามปกติต่อไป สำหรับพวกผมก็ต้องกลับเข้าไปทำงานเกาะติดกันอยู่ในหมู่บ้านในอำเภอหนองบัวแดง ชัยภูมิ ดังที่เล่ามาข้างต้น แต่การเข้าหมู่บ้านพวกเราพักหลังๆมักจะถูกดักกลุ้มรุมทำร้ายกันซึ่งหน้าเมื่อลงรถที่ตัวอำเภอ จากบุคคลที่เป็น อส. ซึ่งเป็นกำลังติดอาวุธของทางการในระดับอำเภอในยุคนั้น จนพวกเราไม่สามารถเข้าออกหมู่บ้านได้อีกเลย
.
ในระยะต้นปี 2519 จึงมีการตัดสินใจถอนกำลังทั้งหมดกลับเข้าเมือง และเตรียมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ในเขตุป่าเขา ต่อไป ผมทราบว่าสหพันธ์นักศึกษาเสรีได้มีการส่งคนบุกขึ้นไปเจรจากับฝ่ายนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย บริเวณเทือกเขารอยต่อสามจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์และเลย เพื่อให้ส่งคนมานำการต่อสู้ต่อไป เพราะพวกเราทั้งหมดทั้งที่เป็นนักศึกษาและกรรมกร ไม่มีประสบการณ์ในการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตป่าเขาเลยแม้แต่คนเดียว เรื่องนี้ผมมาทราบภายหลังว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้ตัดสินใจเปิดเขตุการต่อสู้เขตุนี้เป็นพิเศษ โดยส่งกำลังมาเพียงสามคน แต่ให้กำลังส่วนใหญ่ที่จะทำงานต่อไปเป็นกลุ่มสหพันธ์นักศึกษาเสรี ที่ทำงานอยู่เดิมเป็นกำลังสำคัญ และคำถามของคุณประภพ ที่ถามผมนั้นคือภาพต่อขยาย จากการที่สหพันธ์นักศึกษาเสรีได้ตัดสินใจต่อสู้ด้วยอาวุธ ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่กล่าวมานั่นเอง
.
“เราต้องการคนจำนวนหนึ่งไปทำงานฝังตัวแบบปิดลับ ในหมู่บ้านรอบภูเขียว ไปอยู่ในหมู่บ้านไม่ต้องเข้าป่า...ใช้ชีวิตแบบชาวบ้านไปก่อน...!!!” ประภพ กล่าวทิ้งท้าย ด้วยเสียงเข้มๆ

“ก็พวกเราสอนอยู่เสมอ ไม่ใช่เหรอว่า ให้ส่วนตัว ขึ้นกับส่วนรวม” ผมกล่าวตอบไป หลังจากนิ่งเงียบไปครู่ใหญ่ ด้วยน้ำเสียงแบบที่ไม่ค่อยมั่นใจนัก

“ตกลงว่าคุณเลือกงาน ใช่ใหม..???” ประภพ ถามรุกย้ำ มาอีก เพื่อความมั่นใจ
“ครับ..!!!” ผมย้ำคำตอบเดิม
"เรามีเวลาให้คุณ สองสัปดาห์ เพื่อจัดการเคลียร์เรื่องส่วนตัวทุกอย่าง ให้เรียบร้อย แล้วเรามานัดพบกับอีกครั้ง เพื่อรับมอบภารกิจที่จะต้องทำ" ประภพสรุป


.


เรา..ผมและประภพ เด็กหนุ่มสองคนในวัยที่ห่างจากการครบเบญจเพสอีกหลายปี จบการสนทนาลงและแยกย้ายกัน เพียงแค่นั้น เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อไปรับภาระที่หนักอึ้ง สำหรับเด็กหนุ่มวัยเพียงแค่นั้น ภาระในการต่อสู้เพื่อปฏิวัติประเทศไทย

อยากกอบดาวราวดวงในห้วงฟ้า
เก็บเอามาเรียงร้อยเป็นสร้อยขวัญ
แล้วเก็บแสงแรงกล้าแห่งตาวัน
ล้อมด้วยจันทร์เพ็ญพร่างกลางสายลม
.
บางเหตุการณ์เลยผ่านไม่นานนัก
ยังทอถักใยฝันไม่ทันสม
ปล่อยหัวใจไหวว่างอย่างตรอมตรม
เงียบระงมมาทวนซ้ำ..เหยียบย้ำรอย
.
ผมและเขาและผู้คนอีกจำนวนมาก ได้เข้าร่วมภาระกิจการต่อสู้ด้วยอาวุธที่ต้องเสียเลือดเนื้อของพี่น้องคนไทยทั้งสองฝ่าย เป็นเวลาต่อมาอีกหลายๆปี เคยมีคนถามผมว่า เมื่อโตขึ้นมาขนาดนี้ หากผมย้อนเวลากลับไปได้ผมจะตัดสินใจแบบนั้นอีกหรือไม่ ผมมักตอบว่าด้วยสถานการณ์แบบนั้น เมืองการปกครองแบบนั้น การคุกคามทำร้ายแบบนั้น ผมคงเลือกตัดสินใจเป็นอย่างอื่นได้ยาก และชีวิตเราทุกคน...บางครั้งการตัดสินใจ เลือกทางเดินชีวิตที่มีผลต่อเนื่องกับชีวิตทั้งชีวิตของเรา ก็มักจะเกิดขึ้นในวัยก่อนเบญจเพส ทั้งนั้น ใช่หรือ..ไม่..???


.
ด้วยวัยและวุฒิภาวะ ที่ยังไม่พร้อม กับการตัดสินใจขนาดนั้น แต่ต้องอย่าลืมว่า คนในวัยนั้น ขนาดของหัวใจ ของเขามักจะใหญ่เกินกว่า วัยและวุฒิภาวะ อย่างแทบจะเทียบกันไม่ได้
.


ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้น เพราะเมื่อวานผมนั่งคุยกับน้องๆเรื่องปัญหาในภาคใต้ และการปลุกระดมเยาวชนหนุ่มสาวให้เข้าไปต่อสู้ด้วยอาวุธ ในป่าเขา ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นมีความเหมือนกันอย่างยิ่งกับเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว


.
หรือแท้ที่จริงแล้วสังคมไทยไม่ได้โตขึ้นเลย ทางการเมือง....เพราะสถานการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ เหมือนย้ำกับผมว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลง.ไปนั้น เป็นเพียงแค่สถานที่ ผู้คน และวันเวลา เท่านั้น แต่สาระของปัญหานั้นแทบจะยังคงเหมือนเดิม.....

...................................

ธุรกิจร้านกาแฟ (1 ) กาแฟกับคนไทย




























.

สาระเกี่ยวกับกาแฟ
กาแฟ เป็นเครื่องดื่มที่ทำจากเมล็ดกาแฟคั่วซึ่งได้จากต้นกาแฟ นิยมดื่มเป็นเครื่องดื่มทั้งแบบร้อน ๆ และแบบเย็นๆ บางครั้งนิยมใส่นมหรือครีมลงในกาแฟด้วย ในกาแฟหนึ่งถ้วยมีคาเฟอีนอยู่ประมาณ 80 -140 มิลลิกรัม กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับชาและน้ำ นอกจากนี้ เมล็ดกาแฟยังเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีการผลิตและส่งออกมากเป็นอันดับที่หกของโลก สำหรับประเทศไทยนั้นถือว่ากาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่ง ที่ปลูกมากในพื้นที่สูงภาคเหนือ และพื้นที่ภาคใต้ ของประเทศ
.
เชื่อกันว่ามนุษย์เราน่าจะรู้จักต้นกาแฟมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 โน่นแล้ว แต่เพิ่งมาทราบสรรพคุณของมันอย่างบังเอิญในราวต้นศตวรรษที่ 10 นี่เองโดยสรรพคุณของกาแฟถูกค้นพบครั้งแรกโดยคนเลี้ยงแพะชาวอาบิสซีเนีย ชื่อคาลได (kaldi) (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเอธิโอเปีย ทวีปอัฟริกา) นายคาลได สังเกตเห็นแพะที่ตนเองเลี้ยงเกิดอาการคึกคะนองกระโดดโลดเต้นอย่าง สนุกสนาน ไม่ยอมหลับนอน หลังจากไปกินใบ และผลสีแดง ๆ ของ ของต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งก็คือต้นกาแฟนั่นเอง เมื่อ นายคาลไดลองกินดูบ้างก็รู้สึกสดชื่น ต่อมาภรรยาของเขาจึงได้นำเรื่องนี้ไปเล่าให้ ฮะยี โอเมอร์ (Hadji Omer) พระมุสลิมรูปหนึ่งฟัง ท่านจึงลองนำผลกาแฟไปเผาไฟเพื่อหวังลดอำนาจของผลไม้นี้ลง แต่กลับมีกลิ่นหอมน่าพิสมัย จึงนำมาทุบและใส่ผสมลงในน้ำเพื่อใช้เทดับไฟ และเมื่อท่านลองดื่มน้ำนั้นดู ก็รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ภายหลังจึงได้นำมาคั่ว แล้วต้มดื่ม เป็นเครื่องดื่มประจำ ต่อมาพวกพ่อค้าทราบเรื่องนี้เข้าจึงนำออกไปเผยแพร่ นับแต่บัดนั้น โลกก็รู้จักลิ้มรสของกาแฟในฐานะเครื่องดื่มที่สร้างความกระปรี้กระเปร่าให้กับร่างกาย โดยในระยะศตวรรษที่ 15 นั้น กาแฟก็กลายเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันแพร่หลายมากทั่วไปในแถบประเทศอาหรับ
.
ในช่วงศตวรรษที่ 16 การนิยมดื่มกาแฟ ได้ขยายอาณาเขตไปถึงยุโรป โดยขยายไปยังนครเวนิส เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และกะจายตัวอย่างต่อเนื่องจนครอบคลุมไปทั่วโลกในที่สุด กล่าวกันว่าในระยะแรกๆชาวอาหรับหวงแหนพันธุ์กาแฟมาก จึงส่งออกเฉพาะเมล็ดกาแฟที่คั่วสุกแล้วเท่านั้น แต่ในที่สุดเมล็ดกาแฟก็ออกมาสู่โลกกว้าง โดยการลักลอบนำออกมาโดยชาวอินเดียที่ไปแสวงบุญที่เมกกะ และก็ได้แพร่ขยายไปยังชวา เนเธอร์แลนด์ และทั่วยุโรปในที่สุด สำหรับทวีปอเมริกานั้น ต้นกาแฟถูกนำไปอย่างยากลำบาก โดยทหารเรือฝรั่งเศสในต้นศตวรรษที่ 18 ในครั้งแรกนั้น มีต้นกาแฟที่เหลือรอดชีวิตบนเรือมาขึ้นฝั่งอเมริกาได้เพียง 1 ต้น และก็ได้แพร่ขยายเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันดินแดนแห่งนี้ ได้กลายเป็นดินแดนที่ปลูกกาแฟมากที่สุดในโลก
.
คนไทยกับกาแฟ
คนไทยเรานั้นน่าจะเริ่มรู้จักกาแฟกันมาตั้งแต่ยุคสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมารู้จักกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แต่เอาเข้ามาในรัชกาลไหนยังไม่ทราบแน่ชัด เพราะคนไทยเราเห็นจะไม่ค่อยชอบดื่มกัน จึงไม่ได้บันทึกไว้ในพงศาวดาร องไทยเราเอง แต่มีปรากฏในจดหมายเหตุของฝรั่งที่เข้ามาในแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวว่าพวกแขกมัวร์ชอบดื่มกาแฟมาก แต่สำหรับคนไทยในยุคนั้นการดื่มกาแฟนั้นเห็นจะไม่ค่อยนิยมเพราะรสติดจะขม อาจจะคิดว่าเป็นยาไปเสียด้วยซ้ำคนไทยจึงไม่ค่อยคุ้นกับกาแฟเพราะเหตุนี้ เข้าใจว่าคนไทยจะมารู้จักกันดีชนิดมีการนิยมปลูกกันมากขึ้น ก็ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชประสงค์ทำสวนกาแฟอยู่พักหนึ่ง สวนกาแฟที่ว่านี้คือบริเวณวัดราชประดิษฐ์ การทำสวนกาแฟในสมัยนั้น น่าจะเป็นเครื่องวัดได้อย่างหนึ่งว่า ในสมัยของ รัชกาลที่ 3 เป็นสมัยที่กาแฟแพร่หลายมากที่สุด จนถึงมีพระราชดำริทำสวนกาแฟขึ้น ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ก็ยังปรากฏว่าสวนกาแฟของไทยก็ยังทำกันอยู่ แต่ที่มีชื่อกล่าวถึง ในจดหมายเหตุของฝรั่งที่เข้ามาในสมัยนั้นก็คือ สวนกาแฟของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์โดยเซอร์ยอห์น บาวริง ราชทูตอังกฤษซึ่งเข้ามาทำสัญญากับประเทศสยามเมื่อ พ.ศ.2398 ในรัชกาลที่ 4 ได้เคยเขียนเล่าไว้ว่า ได้เคยไปเที่ยวสวนกาแฟของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ซึ่งปรากฏมีต้นกาแฟมากมาย และ ยังได้ให้ท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯยังได้ให้เซอร์ยอห์น บาวริง ลองเก็บไปกินเป็นตัวอย่าง 3 กระสอบ จากหลักฐานเหล่านี้ก็แสดงว่า การปลูกกาแฟของไทย เคยพยายามทำให้เป็นล่ำเป็นสันกันมาแล้ว แต่จะเป็นด้วยคนไทยในสมัยนั้นไม่นิยมดื่มกาแฟ หรือจะเป็นด้วยกาแฟพันธุ์ไม่ดี หรือสาเหตุอื่นๆคนไทยจึงไม่ได้นิยมดื่มกาแฟกันอย่างแพร่หลายมากนัก
.
เรื่องการทำสวนกาแฟเห็นจะหยุดชะงักมานาน จนกระทั่งเลิกกิจการไป ไม่มีใครคิดจะปลูกเป็นล่ำเป็นสันต่อมาอีก แต่การดื่มกาแฟเห็นจะมีแพร่หลายมากขึ้น ร้านกาแฟในกรุงเทพฯ จะเริ่มมีมากขึ้นในสมัยไหนก็ไม่พบหลักฐาน แต่ปรากฏว่าใน พ.ศ.2460 ซึ่งอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งแรก มิสโคล์ ชาวอเมริกัน ได้ตั้งร้านขายกาแฟอยู่แถวสี่กั๊กพระยาศรี โดยเปิดขายทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 15.00 น – 18.00 น.โดยให้ชื่อว่าร้าน “Red Cross Tea Room” หน้าร้านปักธงกาชาด ปรากฏว่ามีเจ้านาย และข้าราชการ ตลอดจนชาวต่างประเทศ พากันมาอุดหนุนกันมาก ผลกำไรที่ได้จากการขายกาแฟร้านนี้ มิสโคล์ ได้ส่งไปบำรุงกาชาดของ สัมพันธมิตร และเข้าใจว่าร้านกาแฟคงจะเริ่มมีมากขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 6 และที่ 7 นี้เอง
.
ส่วนการปลูกกาแฟนั้นเริ่มกลับเข้ามาในมีบทบาทในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งพระยาสารศาสตร์พลขันธ์ หรือ นายเจรินี ซึ่งเป็นชาวอิตาลี ได้บันทึกไว้ว่า กาแฟได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งประมาณปี พ.ศ.2447 โดยชาวมุสลิมชื่อนายดีหมุน ได้เมล็ดกาแฟจากการแสวงบุญที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย นำมาปลูกในบ้านของตนเองที่ ต. บ้านโตนด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา จากนั้นก็มีการปลูกเผยแพร่ กว้างขวางออกไป ซึ่งกาแฟชนิดนั้นเป็นกาแฟโรบัสต้า การนำกาแฟที่นายดีหมุนนำกลับเข้ามาทดลองปลูกในครั้งนี้ ค่อนข้างประสบผลสำเร็จด้วยดี กล่าวกันว่าเป็นกาแฟรสดีพอใช้ทำให้มีผู้อื่นเจริญรอยตามการปลูกกาแฟในครั้งนั้นเริ่มปลูกกันมากทีเดียวแถวจังหวัดสงขลา และได้ขยายตัวไปยังจังหวัดอื่นๆทั่วพื้นที่ภาคใต้ในที่สุด
.
ส่วนกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ที่นิยมดื่มกันทั่วโลกนั้น ได้มีนำเข้ามาปลูกครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2516 โดยนำมาปลูกทดลองที่บ้านมูเซอห้วยตาด อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นการนำเข้ามาของหน่วยงานราชการซึ่งได้นำพันธุ์กาแฟพันธ์ต่างๆ เข้ามาจากต่างประเทศ เพี่อให้ชาวเขาปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น จนกระทั่งกาแฟกลายเป็น พืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่ง บนพื้นที่สูงในภาคเหนือของประเทศไทย
.
คำว่ากาแฟนั้น เป็นคำที่มาจากคำว่า "เกาะหฺวะหฺ" (kahwah) ในภาษาอาหรับซึ่งแต่เดิม หมายถึงเหล้าองุ่นแล้วเพี้ยนเป็น กาห์เวห์ ในภาษาตุรกี ก่อนที่จะกลายเป็น คอฟฟี (Coffee) ในภาษาอังกฤษ และกาแฟ ในภาษาไทย คำว่ากาแฟเป็นภาษาสมัยใหม่ แรกเริ่มเดิมทีคนไทยเราเรียกกันว่า “ข้าวแฝ่” ทั้งนี้เพราะการออกเสียงภาษาฝรั่งยังไม่ถนัดปาก และมีเสียงใกล้ข้าวเข้าไป เราก็โมเมว่าเป็นข้าวเสียเลย คนโบราณชอบลากเอาคำฝรั่งมาเป็นคำไทยได้เก่งนัก คือจะได้ฟังกันสนิทหู อย่างชื่อ มิสเตอร์จอห์น ครอเฟิต ทูตอังกฤษที่เข้ามาเมืองไทย เมื่อสมัยรัชกาลที่ 2 นั้นคนไทยเราเรียกเสียใหม่ว่า “นาย จอน กาลาฟัด” ซึ่งเป็นคำที่สนิทหู สนิทปาก คนไทยมากกว่าคำว่า จอห์น ครอเฟิต ซึ่งออกเสียงก็ยาก ฟังก็ไม่คุ้นชิน คำว่ากาแฟนี้ เมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ยังเห็นจะเรียกกันว่า “ข้าวแฟ” เหมือนกันทั้งนี้เพราะเป็นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ สัพพะวัจนะภาษาไทยของปาเลอกัวฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2397 คือเมื่อ (149 ปี) ล่วงมาแล้วแสดงว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ยังคงเรียกกาแฟว่า “ข้าวแฟ” อยู่ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นกาแฟ เหมือนอย่างทุกวันนี้
.
อันที่จริงนั้นกาแฟก็เป็นอาหารมาก่อน ก่อนจะกลายมาเป็นเครื่องดื่มอย่างทุกวันนี้ เพราะปรากฏว่า นายแพทย์ชาวอาหรับชื่อ ราเซส ( Rhazes) ได้กล่าวไว้ในเอกสารตั้งแต่ ค.ศ.900 (พ.ศ.1443) ว่า กาแฟนี้เริ่มแรกใช้เป็นอาหารก็นำเอาผลกาแฟที่ตากแห้งแล้ว แกะเอาเมล็ดออกผสมกับน้ำมัน ปั้นเป็นก้อนกลมๆ นอกจากนั้นก็ยังนำไปทำไวน์โดยใช้เมล็ดดิบและเปลือกแห้งคั้นน้ำแล้วนำไปหมักให้เกิดแอลกอฮอร์เพื่อใช้เป็นเครื่องดื่ม
.
จะว่าไปแล้วผมเองนั้น แม้ว่าจะดื่มกาแฟและเห็นต้นกาแฟมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบกว่าๆซึ่งนั้นก็ร่วม 40 ปีมาแล้ว แต่ก็ไม่ถือว่าตนเองนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งการปลูกและการดื่ม แต่อย่างใด แต่เนื่องจากสอนหนังสือในวิชาการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอยู่ เวลาที่ผมมอบหมายให้ลกศิษย์ทำรายงาน พบว่าการทำธุรกิจร้านกาแฟเป็นเรื่องที่นักศึกษาสนใจทำรายงานกันมามากเป็นพิเศษ และคิดว่าข้อมูลเหล่านี้หากนำมาเรียบเรียงและค้นคว้าเพิ่มเติมก็น่าจะมีประโยชน์กับผู้สนใจทั้งคนปลูก คนได้ และคอกาแฟได้บ้าง หากข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยผู้รู้ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย นะครับ
.


““““““““““”””””””””


เอกสารอ้างอิง

เอกสาร ความรู้เกี่ยวกับกาแฟ ของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รายงานวิชาการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เรื่องธุรกิจบ้านไร่กาแฟ ปี 2552 ของภัทรศยา รัตนสีหา นิสันต์ หอมบุญ อาภากร วทัญญู และปัญมาสน์ ประดิษฐ์วงศ์กูล

http://www.banriecoffee.com/
http://www.me.ru.ac.th/docs/bannrai.doc
http://www.chaonet.com/webindexsearch.php?phrase=บ้านไร่กาแฟ
http://www.bangkokspace.com/dinner-restaurant.aspx?cid=?place=144 http://www.everykid.com/worldnews2/coffee/index.html
http://www.pantown.com/
http://www.thaigoodview.com/


...................................

ผู้ติดตาม